วันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ทำไมต้องเรียนกฏหมายเมืองนอก

ทำไมต้องไปเรียนต่อเมืองนอก ในเมื่อเราอยู่เมืองไทยและใช้กฎหมายไทย

(เดิม ผมตั้งใจว่าจะมาอัพบล็อก “เมื่อ LLM เป็นการศึกษาภาคบังคับ” ที่ค้างอยู่ แต่บังเอิญไปเจอกระทู้ที่ตัวเองเคยตอบไว้เมื่อสองปีที่แล้ว เห้นว่าน่าจะยังมีประโยชน์ ก็เลยเอามาแก้ไขนิดหน่อย แล้วเอามาแปะให้อ่านกันอีกรอบ .. โปรดสังเกตสำนวน.. เป็นสำนวนสมัยผมเขียนตำรากฎหมาย.. แก่จัง..)

“เมื่อ เราอยุ่เมืองไทยและใช้กฎหมายไทย ทำไมจะต้องไปเรียนโท/เอก กันต่อที่เมืองนอก กฎหมายไม่เหมือนกันสักหน่อย เรียนเมืิองไทยน่าจะพอแล้ว...”

เมื่อพิจารณาดูกฎหมายว่าด้วยเรื่องหนึ่งๆ เราพอจะแบ่งเนื้อหากฎหมายนั้นได้เป็นสามส่วนคือ

1. หลักการ (Principle, Regime) คือแนวความคิดพื้นฐานและห้วงเหตุห้วงผลของกฎหมายเรื่องนั้น ตลอดจนแนวนโยบายแห่งรัฐ และประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ในเรื่องนั้น

2. บทบัญญัติ (Provision) คือรายละเอียดตัวบทบัญญัติมาตราต่างๆ ที่เป็นหลักและข้อยกเว้นต่างๆ และแนวคำพิพากษาของศาล

3. แนวปฏิบัติ (Practice) คือวิธีการนำกฎหมายไปใช้ปฏิบัติจริง เช่น กระบวนการเสนอคดีเข้าสู่ศาล การเขียนคำฟ้อง การใช้ดุลพินิจ รวมถึงการร่างสัญญา การเจรจาต่อรอง การขอใบอนุญาต เป็นต้น

นักกฎหมายที่เก่งจะต้องรู้ซึ้งและแม่นยำทั้ง สามส่วน แต่ทว่าการเรียนกฎหมายไม่ว่าในระดับใด ปกติจะเรียนกันได้แค่สองส่วน คือหลักการและบทบัญญัติ ส่วนแนวปฏิบัติจะต้องไปเรียนรู้ด้วยตนเองในการทำงานหลังสำเร็จการศึกษาแล้ว ต่อให้จบปริญญาเอก ถ้าไม่เคยทำงานก็ไม่อาจจะรู้แนวปฏิบัติได้ มีคำกล่าวโบราณว่า (ติดอยู่ริมฝีปากว่าใครเป็นคนพูด น่าจะเป็น ท่านสัญญา ธรรมศักดิ์) “การเรียนกฎหมายต้องมืดสามครั้งสว่างสามครั้ง จึงจะบรรลุ” เข้าใจได้ว่าคงหมายถึงการมืดและสว่างทีละส่วนนั่นเองจนครบทั้งสามส่วนที่ว่ามานั่นเอง

ส่วนที่สำคัญที่สุดและยากที่จะรู้ซึ้งที่สุด ก็คือการเรียนในส่วน หลักการของกฎหมาย เพราะต้องมีคนชี้แนะ ไม่อาจจะอ่านเองตรัสรู้เองได้ และก็ยากที่จะมองไปได้ถูกทางถ้าปราศจากครูที่ดี เมื่อเข้าใจหลักการในเรื่องนั้นๆ แจ่มแจ้งดีแล้ว การที่จะเข้าใจ บทบัญญัติ ในขั้นต่อมาก็ไม่ยาก ไม่ว่าตัวบทบัญญัตินั้นจะยุ่งยากซับซ้อนเพียงใด ก็มีที่มาด้วยหลักการในชั้นแรกนั่นเอง ที่น่าเสียดายก็คือการเรียนกฎหมายในชั้นปริญญาตรีในเมืองไทย จะเน้นกันในส่วนบทบัญญัติ คือมุ่งเรียนมุ่งสอนว่ามาตรานั้นมาตรานี้ว่าอย่างไร แต่ไม่ค่อยได้วิเคราะห์อย่างละเอียดว่าตัวหลักการที่อยู่หลังบทบัญญัตินั้น คืออะไร มีบริบทที่มาอย่างไร และมีจุดอ่อนข้อถกเถียงอย่างไร

ปัญหา ที่ถามกันบ่อยๆ ว่าการไปเรียนกฎหมายในชั้นปริญญาโท/เอก ต่อในต่างประเทศนั้นจะได้ใช้จริงหรือ ถ้ามองในมุมของการเรียนกฎหมายแบบไทยๆ คือเน้นเรียนตัวบทบัญญัติ ก็ตอบได้ว่าคงไม่ได้ใช้หรือได้ใช้น้อยมากเพราะบทบัญญัติของกฎหมายไทยกับ กฎหมายชาติอื่นๆ ต่างกันมาก โครงสร้างพื้นฐานและนิติวิธีก็ต่างกัน แต่ประโยชนที่จะได้์อย่างยิ่งยวดจากการเรียนกฎหมายในต่างประเทศ คือการศึกษาหลักการพื้นฐานของกฎหมายเรื่องนั้น เพราะหลักการต่างๆ ที่ปรากฎอยู่ในกฎหมายไทย ล้วนมีที่มาจากหลักกฎหมายต่างประเทศทั้งสิ้น เรียกได้ว่าประเทศไทยไม่เคยคิดหลักการทางกฎหมายอะไรเองเลย เว้นแต่ เรื่องครอบครัวและมรดกในประมวลกฎหมายแพ่ง ที่เราคิดเองหมดแบบไทยแท้ นอกนั้นเราเอาหลักกฎหมายฝรั่งมาปรับใช้ทั้งหมด

การมาเรียนกฎหมายใน ต่างประเทศ จึงเป็นการกลับมาหาต้นตอ มาเรียนว่าหลักการที่เราเอาไปใช้นั้นมีที่มาอย่างไร เราเอาไปใช้แล้วเพี้ยนไปแค่ไหน และที่เราใช้อยู่มันล้าสมัยหรือยัง ชาวโลกเค้าพัฒนาไปถึงไหนแล้ว เสมือนเป็นกบในบ่อออกสู่โลกกว้าง ในบางเรื่องฝรั่งเค้าไปอวกาศกันแล้ว เรายังหักร้างถางพงกันอยู่เลย เช่นกฎหมายห้างหุ้นส่วนบริษัทไทยที่เราใช้อยู่ หลักการยังเหมือนกับกฎหมายอังกฤษฉบับปี 1940 กว่าๆ แต่ตอนขณะนี้อังกฤษเค้าใช้ฉบับปี 1985 แล้ว และก็กำลังจะมีฉบับใหม่ออกมาด้วยซ้ำ กฎหมายเราวิ่งตามเค้าอยู่เกือบห้าสิบปี นอกจากนี้ยังเป็นการเปิดมุมมองใหม่ๆ ที่ต่างไปจากกฎหมายไทย เช่นในเรื่องหนึ่ง กฎหมายไทยมองว่าเป็นละเมิด แต่กฎหมายอังกฤษกลับมองว่าเป็นผิดสัญญา เราก็ต้องศึกษาว่า ทำไมเค้าถึงมองต่างจากเรา เพราะเหตุใดและแนวทางของใครแก้ปัญหาได้ดีเด่นกว่ากัน เมื่อเราได้มาเรียนหลักการดั้งเดิมแล้ว เราก็จะสามารถเข้าใจหลักการที่เมืองไทยประยุกต์เอาไปใช้ได้ง่ายขึ้น และก็จะเข้าใจตัวบทบัญญัติที่เราเขียนไว้ได้ง่ายขึ้นไปอีก ทั้งยังกว้างขวางและลึกซึ้งกว่าเดิม

นอกจากการเรียนหลักการพื้นฐาน ของกฎหมายว่าด้วยเรื่องต่างๆ เพื่อนำไปพัฒนาปรับปรุงกฎหมายไทยให้ดีขึ้น ดังที่กล่าวไว้แล้ว ยังมีลักษณะการศึกษาอีกแนวทางหนึ่ง คือการศึกษากฎหมายที่มีลักษณะเป็นกติกาสากล หรือกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศ เช่นกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง แผนกคดีบุคคล กฎหมายการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ หลักเกณฑ์ทางภาษีระหว่างประเทศ กฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เป็นต้น ด้วยความที่กฎหมายเหล่านี้มีลักษณะเป็นสากล กติกาที่นำไปใช้ในประเทศต่างๆ มักจะไม่ผิดแผกจากกันมากนัก เมื่อศึกษาแล้วจึงสามารถนำไปใช้ได้ในทันที เหตุที่ต้องมาศึกษาในต่างประเทศ สาเหตุหลักอยู่ที่ความพร้อมของหนังสือตำราและข้อมูลต่างๆ และความเชี่ยวชาญของอาจารย์ผู้สอนที่มักมีมากกว่าอาจารย์ในเมืองไทย นอกจากนี้ การเรียนกฎหมายที่ต่างประเทศ โดยเฉพาะในสาขากฎหมายธุรกิจ นักศึกษาจะมีโอกาสดีกว่าที่จะได้ศึกษาธุรกรรมที่มีแง่มุมทางกฎหมายซับซ้อน เช่นการควบรวมกิจการ (merger) รายใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นได้ยากในบ้านเรา

สรุปได้ว่า ประโยชน์ของการมาเรียนในระดับปริญญาโท/เอก ในต่างประเทศคือ

1. ได้ศึกษาหลักการดั้งเดิมที่กฎหมายไทยนำไปปรับใช้
2. ได้เห็นถึงแนวทางที่แตกต่างออกไป ในการจัดการกับปัญหาในลักษณะเดียวกัน เป็นการเปิดมุมมองและวสันทัศน์ของตนเอง
3. ได้เข้าถึงตำรา เอกสารข้อมูล และแนวความคิดใหม่ๆ ที่ยังไม่แพร่หลายในเมืองไทย
4. ได้ศึกษาธุรกรรมต่างๆ ที่ยังไม่มีในเมืองไทย

อย่างไรก็ดี การมาศึกษากฎหมายในต่างประเทศก็มีข้อควรระวังคือ ต้องพึงสังวรณ์ไว้เสมอว่า "กฎหมายนั้นมีบริบทของตัวเอง" (Law does not operate in vacuum. : Amir N. Litch) กฎหมายที่ดีในสังคมหนึ่งๆ อาจจะไม่เหมาะกับอีกสังคมหนึ่ง การจะนำความรู้ที่ได้ร่ำเรียนในต่างประเทศไปปรับใช้ จึงต้องผ่านการใคร่ครวญอย่างหนัก ว่าเหมาะสมกับวัฒนธรรม ประเพณี และสภาพสังคมของบ้านเราหรือไม่เพียงใด..

"Lawเก้อ แก่... "

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น