วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

การทึกทักเอาเอง

ก่อนอื่นต้องขออนุญาติอาจาร์ย สิทธิโชคนะคะ บทความนี้หนูชอบมากกกกก ค่ะ


ที่มา http://sithichoke.bloggang.com

ปรากฏการณ์การทึกทักเอาเอง

นิยาย กำลังภายในสมัยก่อนที่ผมชอบอ่านนั้น ตัวเอกมักจะต้องบังเอิญไปพบคัมภีร์วิทยายุทธ์ชั้นเลิศในหุบเขา แล้วต้องอยู่คนเดียวฝึกวิชาตามคัมภีร์นั้นเป็นเวลาเป็นปีๆ กว่าจะออกจากหุบเขาเข้าสู่บู้ลิ้ม ผู้ประพันธ์จึงต้องแต่งเรื่องให้ตัวเอกนั้นมีปณิธานเด็ดเดี่ยว ฝึกวิชาเพื่อแก้แค้นให้พ่อแม่

มิฉะนั้นตัวเอกนั้นต้องบ้าเสียก่อนจะเก่งแน่ๆ เพราะว่าชีวิตของคนเรานั้นต้องอยู่กับคนอื่นๆ ตลอด เราไม่สามารถอยู่คนเดียวนานๆ ได้

นัก จิตวิทยาเคยทดลองให้คนอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถใช้ประสาทสัมผัสได้ คือ อุดหู ปิดตา สวมถุงมือ อยู่ในห้องคนเดียวไม่ให้พบใคร พบว่า ผู้รับการทดลองมักอยู่ได้ไม่นานเกิน 2-3 วัน พวกเขามักจะรายงานว่า เริ่มได้ยินเสียง หรือเห็นภาพหลอนเมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 20 ชั่วโมง

ประสบการณ์ ครั้งหนึ่งของผมที่เป็นอย่างเดียวกันนี้คือ เมื่อผมได้ทุนไปทำงานวิจัยที่เยอรมัน ผมได้ขอให้เจ้าภาพจัดที่อยู่ร่วมกับคนอื่นๆ ไม่ขออยู่คนเดียว เจ้าภาพจัดให้อยู่หอพัก 8 ชั้นร่วมกับนักศึกษา มีห้องนอนส่วนตัว แต่ใช้ครัวและห้องน้ำร่วมกัน ซึ่งผมชอบมากที่จะได้คุยกับผู้คนบ้าง

แต่ วันสุดสัปดาห์วันหนึ่ง นักศึกษาทั้งหอพักกลับบ้านกันหมด มีผมอยู่คนเดียวทั้งตึก 8 ชั้น คืนนั้นผมดันนอนไม่หลับ ดูโทรทัศน์ ฟังวิทยุ ก็มีแต่ภาษาเยอรมัน ผมก็ไม่รู้เรื่อง อ่านหนังสือก็ไม่มีสมาธิ เวลาผ่านไปผมเริ่มรู้สึกว่า ได้ยินเสียงว่า ผมคิดอะไร ผมเริ่มรู้แล้วว่า ชักไม่ดีแล้ว จึงตัดสินใจโทรศัพท์ไปหาเลขานุการอาจารย์หัวหน้าโครงการวิจัย ขอให้พาสามีมาด้วย คืนนั้นต้องพากันไปดื่มเบียร์สักพักใหญ่ แล้วค่อยกลับมานอนหลับได้

คนเราต้องสังสรรค์สัมพันธ์กับผู้คนครับ ทั้งที่มันสำคัญต่อเรามากเรายังเห็นความสำคัญของความสัมพันธ์น้อยกว่าควร มักจะเกิดปัญหาในความสัมพันธ์ระหว่างกันเสมอ

เชื่อมั๊ยครับว่า ในการสัมพันธ์กับคนอื่นนั้นเรามักจะมีปัญหาอันเกิดจากตัวเราเองสร้างขึ้น ด้วยเหมือนกัน (ส่วนมากยามที่ความสัมพันธ์มีปัญหา เรามักคิดว่า เขาเป็นคนสร้างปัญหามากกว่าจะคิดว่า เราเป็นตัวสร้างปัญหาเอง)

เรื่อง ที่ผมว่าเป็นตัวการสร้างปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างกันที่สำคัญมากๆ คือ การทึกทักเอาเองตามใจเรา เพื่อให้ดูเป็นวิชาการอย่างศักดิ์สิทธิ์สักหน่อย นักจิตวิทยาเรียกว่า Fundamental Attribution Error ครับ

คนเราชอบที่จะทึกทักเอาเองตามใจเราเสมอเวลาที่เราสัมพันธ์กับใครๆ
ใน ความสัมพันธ์แบบลูกกับพ่อแม่ เราที่เป็นพ่อแม่มักชอบทึกทักเอาตามใจพ่อแม่ว่า ลูกคงอยากได้อย่างนั้น อยากเป็นอย่างนี้ อยากทำอย่างนั้น ด้วยความรักลูกพ่อแม่มักจะจัดการอะไรตามที่ตนเองทึกทักเอาว่า ลูกต้องการ พอลูกแสดงอาการไม่เอาด้วย พ่อแม่ก็จะน้อยใจว่าลูกไม่รักพ่อแม่

ตัวอย่าง ในละครไทยจะเห็นได้บ่อยๆ เมื่อพ่อแม่ทึกทักเอาว่า นางเอกต้องได้ผู้ชายคนนี้จึงจะมีชีวิตที่เป็นสุข แต่นางเอกต้องไม่เอาด้วย เพราะรักพระเอก จนพระเอกต้องเดือดร้อน ทำงานแก้ปัญหาชีวิตของนางเอกกับพ่อแม่

ในความสัมพันธ์แบบชายหญิงเชิง คู่รัก ต่างฝ่ายต่างก็จะทึกทักเอาตามใจตนเองว่า อีกฝ่ายหนึ่งคงเป็นอย่างนั้น ต้องการอย่างนี้ เหมือนกัน ตัวอย่างเช่น ฝ่ายหญิง (มักเป็นมากกว่าฝ่ายชาย) ชอบทึกทักเอาเองว่า ฝ่ายชายจะต้องซื้อดอกกุหลายสีแดงให้ในวันวาเลนไทน์ พอฝ่ายชายไม่ได้ซื้อให้ก็งอนตามระเบียบให้ง้อ

ในความสัมพันธ์เชิงการ เมืองนั้นชวนขำขันได้เหมือนกัน เมื่อฝ่ายค้านลุกขึ้นมาอภิปรายรัฐมนตรีอย่างรุนแรงแล้วทึกทักเอาว่าทุจริต แน่ พอฝ่ายรัฐมนตรีขึ้นมาชี้แจงก็ตอบว่า ที่ทำมาทั้งหมดนี้ ทำอย่างเดียวกันกับที่ผู้อภิปรายด่าว่าตนนั้นเคยทำเมื่อเป็นรัฐมนตรีกระทรวง นี้เหมือนกัน

แม้แต่ความสัมพันธ์เชิงการทำงานระหว่างเจ้านายกับลูก น้องก็มีการทึกทักเอาตามใจตนเองเหมือนกัน เช่น ลูกน้องมักจะทึกทักเอาตามใจตนเองว่า ตำแหน่งนั้นนี้นายเราคงต้องแต่งตั้งเราเป็น เพราะเรามีคุณสมบัติดีที่สุดกว่ามวลมนุษย์ใดๆ อีกแล้ว พอนายแต่งตั้งคนอื่นก็เสียใจหาว่านายตาบอด มองไม่เห็นความเก่งของตัว พาลโกรธนาย กินเหล้าแล้วด่า กินเหล้าแล้วด่า

จำได้ว่า ตอนเรียนวิชาพฤติกรรมองค์การ อาจารย์เขาเคยให้อ่านกรณีศึกษาที่มี ผู้ชายคนหนึ่งแต่งงานกับสาวอริโซนา แต่ทำงานที่นิวยอร์ค ฤดูร้อนหนึ่งทั้งสามีภรรยาพักร้อนไปเยี่ยมพ่อแม่ฝ่ายหญิงที่เมืองเล็กแห่ง หนึ่งในรัฐอริโซนา ซึ่งทั้งร้อน ทั้งแห้ง และเล็ก

พักอยู่ที่บ้าน พ่อตาแม่ยายได้สัก 3-4 วัน วันหนึ่งพ่อตาทึกทักเอาตามใจตนเอง แล้วคุยปรึกษากับภรรยาว่า ท่าทางลูกเขยคงร้อน เบื่อและเหงา เพราะเคยอยู่แต่นิวยอร์คเมืองใหญ่อากาศเย็น จึงอยากเอาใจลูกเขย เลยชวนไปกินอาหารกลางวันที่อีกเมืองหนึ่งซึ่งต้องขับรถไปครึ่งวัน ที่นั่นมีอะไรสนุกๆ ให้ได้ทำ และอากาศดีกว่าเมืองเล็กๆ อย่างนี้

แม่ยายรีบทึกทักเอาเองว่า ใช่แล้ว เราไปชวนลูกเขยแสนน่ารักกันเถอะ
พอ ไปชวนลูกเขยซึ่งความจริงไม่ได้รู้สึกเหงา ไม่ได้คิดอยากไปเลย แต่ทึกทักเอาเองว่า พ่อตาแม่ยายคงอยากไปเที่ยวบ้าง จึงตอบว่า ตกลง แต่ขอชวนภรรยาไปด้วยกัน

พอสามีมาชวน ภรรยาเองรู้สึกสงสารสามีที่ต้องมาอยู่เมืองเล็กๆ เหงาๆ อย่างนี้รีบทึกทักเอาเองเลยว่า สามีคงเหงาอยากไปเปลี่ยนบรรยากาศ จึงแสดงท่าทีตกลงไปด้วย

ตกลงวันนั้นทั้งหมดใช้เวลาขับรถไปครึ่งวัน รับประทานอาหารกลางวัน แล้วขับรถกลับมาที่บ้านอีกครึ่งวัน

สามีอดรนทนไม่ไหว กระซิบบอกภรรยาว่า เราไม่น่าจะใช้เวลาทั้งวัน ขับรถไปมาอย่างนี้เลยนะ ทั้งเหนื่อย ทั้งร้อน ทั้งเสียเวลา

ฝ่ายภรรยาสวนกลับมาทันทีว่า เอ้า ฉันนึกว่า คุณอยากจะไป ความจริงฉันไม่อยากไปหรอกนะ อยากเอาใจคุณมากกว่า

พ่อตา กับแม่ยายเองก็บอกว่า ความจริงเราทั้งคู่ก็เหนื่อยไม่อยากไปหรอกนะ เราเคยไปแล้ว แต่อยากให้คุณเปลี่ยนบรรยากาศเสียบ้าง เมืองนี้ไม่มีอะไรสนุกให้คุณทำหรอก

ตกลงทั้ง 4 คน ต่างก็ทึกทักเอาตามใจตัวเองทุกคน ไม่มีใครอยากไปสักคนเดียว แต่ทั้งหมดได้ไปจริงๆ

ในเชิงวิชาการ ปรากฏการณ์อย่างนี้เรียกว่า Fundamental Attribution Error

คือ ว่าคนเรานั้น เมื่อเราสังเกตพฤติกรรมของใคร เรามักจะไม่ได้สังเกตเฉยๆ เรามักจะระบุไปด้วยว่า การที่เขาทำอย่างนั้น เป็นเพราะอะไรเป็นเหตุ
คือ เราอนุมานสาเหตุให้กับพฤติกรรมของเขาที่เราสังเกตนั้นด้วย (แถมให้โดยที่เขาไม่รู้) การอนุมานนี้เกิดขึ้นอย่างอัตโนมัติ โดยที่สติของเราไม่ทันจับมัน

และเป็นเรื่องธรรมดาเหมือนกันว่า เมื่อเราเป็นผู้สังเกต (Observer) เรามักอนุมานสาเหตุของพฤติกรรมของผู้กระทำไปที่สาเหตุภายใน (Internal Causes) ที่เป็นคุณสมบัติภายในอันเป็นส่วนตัวของเขา (Disposition) เช่น นิสัย ค่านิยม ทัศนคติ ฯลฯ

แน่นอนว่า การอนุมานสาเหตุแบบนี้ย่อมมีโอกาสผิด เหมือนกับพ่อตา แม่ยาย ลูกเขย คือ เป็นการทึกทักเอาตามใจตัวเอง ความจริงแล้วเขาอาจจะไม่เป็นอย่างนั้น

เช่น เห็นนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะพูดแสดงเหตุผลแบบกว้างๆ ไม่โต้ตอบแบบฟันธงเมื่อฝ่ายต่อต้านพูดถึงพลทหารที่ตายในบ้านพักแม่ทัพภาค 1 ก็บอกว่า นายกฯ ขี้โกหก ไม่กล้าสู้กับความจริง บิดเบือน เหล่านี้เป็นลักษณะภายในส่วนตัวหมด ซึ่งอาจจะไม่เป็นอย่างนี้ในความเป็นจริง เพราะฝ่ายต่อต้านนั้นทึกทักเอาตามใจตัวเอง

ในอีกมุมหนึ่งนั้น Fundamental Attribution Error เกิดได้อีกแบบหนึ่งคือ เมื่อผู้กระทำ พฤติกรรม (Actor) อนุมานสาเหตุของพฤติกรรมตนเอง เขามักจะระบุสาเหตุภายนอก (External Cause) เป็นเหตุของพฤติกรรมที่เขาแสดงออกไป

เช่น พฤติกรรมที่ฝ่ายเสื้อแดง (Actor) อ้างว่า พลทหารที่ตายไปนั้นเนื่องจากมาร่วมชุมนุมกับฝ่ายเสื้อแดง นั้นเป็นพฤติกรรมที่มาจากเหตุสำคัญคือการต่อต้านอำนาจทหารเข้ามาจัดการกับ พวกเขาอันเป็นสาเหตุภายนอก (External Cause) จากตัวฝ่ายเสื้อแดงผู้กระทำพฤติกรรม (Actor) นั้น

บทเรียนนี้สรุปแล้วเอาไปใช้อย่างไรได้บ้าง

ผม ว่าการระบุเหตุพฤติกรรม (Attribution) นั้นเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนทำ และทำกันอย่างเป็นอัตโนมัติ ผู้ที่อยู่ในความสัมพันธ์แบบไหนก็ตาม ควรจะต้องยับยั้งชั่งใจให้ได้ ด้วยการ

1. อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าจะเป็นอย่างนั้นตามที่เราทึกทักเอาตามใจตัวเอง ถ้าเราเป็นผู้สังเกตพฤติกรรม (Observer) ควรซักไซ้ไต่ถามความจริงกันก่อนที่จะอนุมานเหตุของพฤติกรรมว่า เขาเป็นอย่างนั้นจริงหรือ เขาต้องการอย่างนั้นแน่หรือไม่ มีอะไรเป็นสาเหตุภายนอกมาเกี่ยวข้องหรือไม่

2. ข้อนี้สำคัญมาก ทำให้เกิดการทะเลาะ ฆ่าฟันกันมานักต่อนักแล้วคือ เมื่อเราสังเกตพฤติกรรมใครก็ตาม นักสังเกตพฤติกรรมคนอื่นๆ ก็ทำอย่างเดียวกันกับเราคืออนุมานสาเหตุไปที่เหตุภายในของผู้กระทำ ปัญหาคือ เราอนุมานไม่ตรงกัน เพราะความรักความชอบที่มีต่อผู้กระทำต่างกัน จึงมักก่อให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง เมื่อพูดไปแล้วไปกระทบกระเทือนคนที่เขารัก เขาก็ต้องปกป้อง โดยเฉพาะการเมืองเหลืองแดงในยุคนี้มีปรากฏการณ์แบบนี้บ่อยๆ หลีกเลี่ยงเสียดีกว่าครับ

3. กรณีที่เราเป็นผู้กระทำพฤติกรรม (Actor) เราไม่ควรเพ่งความสนใจไปที่สถานการณ์ภายนอกตัวจนเกินไป เพราะจะทำให้เราละเลยที่จะถามใจตัวเองว่า เราต้องการอย่างนั้นจริงหรือเปล่า เรามีแนวโน้มของทัศนคติ ค่านิยมที่จะตัดสินใจทำอย่างนั้นหรือไม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น