วันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

เมื่อมหาเศรษฐี…ถังแตก!

2 ตุลาคม 2549 20:59 น.
๐ วิโรจน์ ภัทรทีปกร
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ :

กอบโกยรายได้ไปก็ไม่ใช่น้อยๆ แต่ไฉนบรรดาเศรษฐี คนดัง
ทั้งหลายถึงสร้างหนี้สร้างสินจนแทบล้มละลายไปหลายคน
และก็คงไม่ใช่เรื่องเสียหายที่คนอยากรวยอย่างเรา
จะศึกษาชีวิตของคนดังถังแตกเอาไว้เป็นอุทาหรณ์
เผื่อวันไหนเกิดรวยขึ้นมาจะได้ไม่พลาดพลั้งเหมือนเขา

เริ่มที่ จอร์จ โฟร์แมน
อดีตนักมวยชื่อก้องโลกผู้มีท่าทีกระฉับกระเฉง
และยิ้มแย้มอยู่เสมอ
เผยถึงเหตุผลของการคืนสังเวียนช่วงปลายทศวรรษ 1980
หลังแขวนนวมไประยะหนึ่งว่า
เขาไม่ได้ต้องการพิสูจน์ความสามารถแต่อย่างใด
แค่ต้องการเงินตอบแทนสำหรับการขึ้นชกอีกครั้ง
หลังสามารถสร้างรายได้ถึง 5 ล้านดอลลาร์
ในช่วงรุ่งโรจน์สมัยยังหนุ่ม

โฟร์แมนเคยเอาชนะคู่ชกอย่างเหนือชั้นด้วยหมัดหนักหน่วงทรงพลัง
เขาสามารถสยบคู่ต่อสู้ที่น่ากลัวอย่างโจ เฟรเซียลงได้
เคยขึ้นชกกับระดับตำนานอย่างโมฮัมหมัด อาลี
และเอาชนะน็อคไมเคิล มูเรอร์ ด้วยหมัดขวาเสยเข้าที่กราม
ในยกที่ 10 ของการชกชิงแชมป์รุ่นเฮฟวี่เวทเมื่อปี 1994
ซึ่งชัยชนะครั้งนี้สามารถกลบเสียงวิจารณ์ว่า
เขาไม่น่าจะหวนคืนสังเวียนได้อีกครั้ง

แม้จะเคยชินกับความโหดร้ายทุกรูปแบบ
สมัยยังเป็นอันธพาลในเมืองฮุสตันของสหรัฐ
แต่เจ้าของหมัดขวาทะลวงโลกอย่างโฟร์แมนก็ต้องพบกับความหวาดกลัว
ที่แท้จริง เมื่อเกือบอยู่ในภาวะล้มละลายช่วงทศวรรษ 1980

”นี่เป็นเรื่องน่ากลัวมาก
น่ากลัวที่สุดเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งจะเคยเจอในความคิดของผม”
โฟร์แมนเปิดใจ
พร้อมชี้ให้เห็นถึงภาระหนักอึ้งในการเลี้ยงดูภรรยา ลูกๆ
และแม่ของตัวเอง

โฟร์แมนยังโชคดีกว่าอีกหลายคนเพราะสามารถพลิกวิกฤติขึ้นมาได้
เขาสร้างรายได้หลายล้านดอลลาร์จากการชกมวยช่วงทศวรรษ 1990
และยังทำเงินได้อีกหลายสิบล้านดอลลาร์
จากการปรับภาพลักษณ์ตัวเองใหม่เป็นนักธุรกิจแสนสุภาพ
จำหน่ายเครื่องย่างแฮมเบอร์เกอร์ชื่อเดียวตัวเองจนขายดิบขายดี

ตัวอย่างเศรษฐีคนดังชาวอเมริกันที่เฉียดกรายภาวะล้มละลาย
ยังรวมไปถึงโทมัส เจฟเฟอร์สัน, บัฟฟาโล บิลล์ โคดี้, มาร์ค
ทเวน, ยูลิสเสส เอส. แกรนท์, เด็บบี้ เรย์โนลด์, ไมเคิล
แจ๊กสัน, โดโรธี เฮมิลล์, โรเบิร์ต แม็กซ์เวลล์ , ไมค์ ไทสัน,
แจ็ค อับรามอฟฟ์ และบรรดาผู้โชคดีถูกลอตเตอรี่อีกกลุ่มใหญ่

บรรดาคนดังเหล่านี้มีประสบการณ์น่าสนใจในการบริหารเงินก้อนโต
บ้างก็ใช้จ่ายเงินเหมือนไม่กลัวหมด
บ้างก็นำเงินไปลงทุนอย่างไม่ระมัดระวัง
ก่อให้เกิดคำถามตามมาว่า
เหตุใดเศรษฐีเหล่านี้จึงไม่มีความยับยั้งชั่งใจ
มีหนี้สินพอกหางมากมาย หรือไม่ก็ลงเอยด้วยการล้มละลายในที่สุด

เดวิด ลัตโก นักบริหารเงินและเป็นผู้จัดรายการวิทยุ
ซึ่งตีพิมพ์หนังสือ ‘Everybody Wants Your Money ‘
อันเปรียบเหมือนคัมภีร์สำหรับนักบริหาร-จัดการเงิน ชี้ถึง 5
ช่องท่องสู่การเป็นคนรวย ประกอบด้วย มรดก แต่งงาน ขโมย
ชนะการเสี่ยงโชค และหายรายได้ด้วยตัวเอง
โดยกลุ่มหลังสุดมีแนวโน้มรักษาทรัพย์ไว้ได้ ส่วน 4
กลุ่มแรกมีแนวโน้มใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายที่สุด

”อันดับแรกต้องดูก่อนว่าคนๆ นั้นร่ำรวยได้ยังไง
พวกที่หาเงินได้จากน้ำพักน้ำแรงจะประหยัด
ส่วนพวกที่ได้มรดกมาจะใช้เงินเก่ง” ลัตโกกล่าว

ไมเคิล แจ๊กสัน นักร้องดังที่คนไทยรู้จักกันดี
และเริ่มมีอัลบั้มติดอันดับขายดีตั้งแต่เด็ก
ต้องตัดสินใจแบ่งลิขสิทธิ์เพลงยอดนิยมของวงเดอะบีเทิล
เอาเงินไปจ่ายหนี้จำนวน 270 ล้านดอลลาร์ในธนาคาร
เพื่อชะลอการล้มละลายเอาไว้ ส่วนไมค์ ไทสัน
อดีตแชมเปี้ยนเฮฟวี่เวทอีกราย ซึ่งเคยมีรายได้ถึง 30
ล้านดอลลาร์ในการขึ้นชก 1 รอบ ต้องยื่นขอเป็นบุคคลล้มละลายในปี
2004 ด้วยหนี้สิน 27 ล้านดอลลาร์ ซึ่งประกอบด้วยเงินภาษีราว 13
ล้านดอลลาร์ และหนี้ของบริษัททองอีก 174,000 ดอลลาร์

เชลลีย์ ฟินเคิล ผู้จัดการวัย 62 ปีของไทสัน เผยว่า
เขาเคยเตือนนักดนตรีและนักกีฬาหลายคน
ให้รักษาฐานะด้วยการนำเงินไปลงในกองทุนบำเหน็จบำนาญ
แต่มีคนยอมเชื่อน้อยมาก รวมถึงไทสันที่ต้องสูญเสียรายได้กว่า
400 ล้านดอลลาร์ตลอดอาชีพค้าหมัด (และกัดหู!)

”เป็นเรื่องยากที่จะบอกพวกเขาว่า อย่านะ
เพราะคนกลุ่มนี้ชื่นชอบความพึงพอใจเพียงชั่วครู่ชั่วยาม
ผมว่ามนุษย์โดยทั่วไปมีความเปราะบาง
และไม่ว่าจะอ่อนแอตรงจุดไหน
ย่อมมีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ” ฟินเคิลชี้แจง

ลองมาฟังการวิเคราะห์ของ วอร์เรน บัฟเฟตต์
มหาเศรษฐีนักลงทุนกันบ้าง บัฟเฟตต์เคยตอบคำถามในปี 1991 ว่า
การกู้หนี้ยืมสิน และ แอลกอฮอล์
น่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เศรษฐีหลายคนถังแตก

”ผมเคยเห็นหลายคนต้องล้มเหลวเพราะเครื่องดื่มมึนเมา
และการใช้เงินกู้เพื่อซื้อกิจการอื่น” บัฟเฟตต์กล่าว
พร้อมยืนยันว่า ชีวิตนี้เขาไม่เคยยืมเงินใครในปริมาณมากๆ มาก่อน

ทีโอดอร์ อารอนสัน ประธานอำนวยการบริษัทอารอนสัน จอห์นสัน
ออร์ทิซ หน่วยงานด้านการลงทุนในฟิลาเดลเฟีย
ชี้ถึงสาเหตุอีกประการหนึ่งว่า คนรวยอาจแตกต่างจากคนทั่วไป
ตรงที่มีอัตตาสูงกว่าและคิดว่าตัวเองรู้ไปหมดทุกอย่าง
แต่ความจริงแล้วไม่ใช่
แล้วสุดท้ายเศรษฐีบางรายจึงลงเอยด้วยการลงทุนผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำ
เล่า เพราะการตัดสินใจที่ผิดพลาดนั่นเอง

อาร์โนลด์ วู้ด ซีอีโอของมาร์ติงเกล แอสเซ็ท
แมเนจเมนท์ในบอสตัน มองว่า ‘ความสำเร็จทางการเงิน’
ก็อาจเป็นปัจจัยให้บางคนล้มละลายเช่นกัน
เพราะเมื่อการบริหารล้มเหลว คนกลุ่มนี้จะมองว่าตัวเองไม่ได้ผิด
นอกจากนี้ วู้ดยังเสนอแนวคิดด้วยว่า ‘เพศ’
อาจมีอิทธิพลต่อความล่มสลายทางการเงิน โดย r
พบว่าผู้หญิงเสี่ยงต่อเรื่องเงินๆ ทองๆ มากกว่าผู้ชาย
ซึ่งนักวิจัยหลายคนก็สนับสนุนแนวความคิดนี้ว่า
ผู้ชายมีความมั่นใจด้านการเงินมากกว่าผู้หญิง

นักวิเคราะห์บางรายมองลึงลงไปถึงขั้น ‘พื้นฐานด้านจิตวิทยา’
ตั้งแต่เด็กที่ส่งผลต่อการบริหารการเงิน
ตั้งแต่สภาพแวดล้อมที่เติบโตขึ้นมา
การรับรู้เรื่องเงินทองในระยะเริ่มแรก รวมถึงสภาพอารมณ์ส่วนตัว
ที่หล่อหลอมให้เกิดพฤติกรรมการบริหารเงินเมื่อเป็นผู้ใหญ่

”พวกที่ล้มละลาย หรือพวกที่เป็นหนี้เป็นสิน
ก็คือคนที่รู้สึกไม่สบายใจเวลามีเงินอยู่ในมือ” แคธลีน
เกอร์นีย์ นักจิตวิทยาการเงินอีกคนหนึ่ง สรุปสั้นๆ ไว้อย่างนี้

ใครที่กำลังมีเงืนจำนวนมากอยู่ในมือ
หรือมีแนวโน้มว่าจะเป็นอย่างนั้นในอนาคต อุทาหรณ์ของ Somebody
เหล่านี้ เท่ากับเป็น ‘แผนที่’ ผิดๆ ซึ่งกางให้เราเห็น
จะได้ไม่ดำเนินรอยตาม

……………………………………

(หมายเหตุ : แปลและเรียบเรียงจาก :
หนังสือพิมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล เฮรัลด์ ทริบูน)
**************************************

เราทุกคนล้วนแล้วแต่เคยทำสิ่งที่ผิดพลาดมาก่อน
การซ้ำเติมผู้อื่น จึงไม่ใช่สิ่งที่เราควรทำ
สิ่งที่เราควรทำคือ การเรียนรู้จากความผิดพลาดต่างหาก!
www.holidaytours.in.th

http://www.freedom.holidaytours.in.th/blog/%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%A9%E0%B8%90%E0%B8%B5-%E0%B8%96%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%95%E0%B8%81/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น