วันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

คิดแบบมีวิสัยทัศน์

[แนวคิด] คิดแบบมีวิสัยทัศน์ ด้วยการวางแผนกลยุทธ์

คราวนี้มาต่อกัน ว่าคิดให้มีวิสัยทัศน์ จะต้องทำอย่างไร
(ขอโทษทีที่ให้รอนาน นึกว่าไม่มีคนอ่านซะแล้ว จะได้ดองต่ออีกหน่อย อิอิ)

อันนี้ขออกตัวไว้ก่อนนะจ๊ะ ว่าเอาออกมาจากความทรงจำ (ที่เคยต้องทำตอนสอบ) เท่านั้น
อาจจะมีบางส่วนที่ผิดพลาดได้ แต่โดยภาพรวมจะเป็นอย่างนี้จ๊ะ

โดยการคิดแบบมีวิสัยทัศน์นี้ เขาเรียกว่าการ"วางแผนกลยุทธ์" (Strategic Plan)
ที่ใช้ในการวางแผนกลยุทธ์ในองค์กรใหญ่ ๆ เลยล่ะจ๊ะ

ถึงแม้จะไม่ค่อยตรงกับการคิดแบบมีวิสัยทัศน์โดยตรง แต่การเอาอันนี้มานำเสนอและเป็นตัวอ้างอิง
ก็คงทำให้สามารถตระหนักได้ว่า การคิดแบบมีวิสัยทัศน์ต้องคิดถึงอะไรบ้าง
โดยขั้นตอนที่ต้องคิดจะมีดังต่อไปนี้

นโยบาย
สิ่งที่ต้องการทำ
เป้าหมาย
ตัวแปรภายนอก
แผนกลยุทธ์
สรุปผล

(ไม่ขอลงภาษาอังกฤษ เพราะจำไม่ได้บางตัว - ฮา)

ในนี้จะขอยกตัวอย่างแต่ละขั้นตอนด้วย



นโยบาย อันนี้คือในส่วนขององค์กร ที่เขาจะกำหนด นโยบายใหญ่มา แล้วเป็นหน้าที่ของเราอีกทีว่าจะทำอย่าง
ไรกับส่วนที่เราดูแล เพื่อให้สามารถตอบสนองกับนโยบายที่วางไว้ขององค์กรได้

ครอบครัว : พ่อแม่ : ต้องการให้ลูกประสบความสำเร็จในการเรียน



ภาระกิจที่ต้องทำ อันนี้เป็นส่วนที่ตัวเราจะต้องตอบสนองนโยบายจากเบื้องบนมาทำอีกที โดยการกระทำนี้ต้อง
ดูว่าเราอยู่ส่วนไหนขององค์กร และต้องกำหนดการกระทำที่ตัวเราสามารถจะกระทำได้

ตัวเรา : ต้องการเอนท์ติดมหาวิทยาลัยดี ๆ
คนใช้ : สร้างสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนให้บุตรธิดาของนายจ้างสามารถติดมหาวิทยาลัยดี ๆ ได้

จะเห็นได้ว่า ตัวเรา จะเลือกการเอนท์ติด ส่วน คนใช้จะเลือกการสร้างสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนเราแทน
การที่ตั้งเป้าหมายที่ทำแบบนี้ ถือว่าตั้งได้ถูก เพราะอยู่ในขอบข่ายที่สามารถทำได้จริง
ไม่ใช่คนใช้ "จะสอบเอนท์" "จะติวหนังสือให้" หรือ"จะรับซุกหุ้น" อันนี้เป็นส่วนที่ผิด เพราะคนใช้ไม่มีความสามารถและ
หน้าที่ในการทำในส่วนนี้ และบางภาระกิจ ไม่เกี่ยวข้องกับนโยบายเลย



เป้าหมาย เป้าหมายในที่นี้จะแบ่งด้วยกันสองส่วนคือ
เป้าหมายเชิงคุณภาพ เป็นเป้าหมายที่ไม่มีค่าวัดที่แน่นอน แต่เป็นเป้าหมายที่บอกเพียงว่าเราจะต้องการทำอะไรแค่ไหน
เป้าหมายเชิงปริมาณ เป็นเป้าหมายที่สามารถวัดค่าได้ สามารถเห็นภาพหรือตัวเลขได้ชัดเจนแน่นอน
โดยควรตั้งทั้งสองเป้าหมายนี้ไว้ เพื่อให้เราสามารถวัดได้ว่าภาระกิจที่เราต้องการนั้นประสบความสำเร็จหรือไม่ และต้อง
การแค่ไหนในการกระทำ

เป้าหมายเชิงคุณภาพ : ติดคณะนิเทศ มหาวิทยาลัยพระเกี้ยว หรือธรรมจักร
เป้าหมายเชิงปริมาณ : ได้คะแนนรวมทุกวิชาอย่างน้อย ให้เกินขั้นต่ำของคะแนนเดิม คือ.... คะแนน



ตัวแปรภายนอก เป็นตัวแปรที่เราควบคุมไม่ได้ อันนี้มีไว้เพื่อตรวจสอบว่า มีตัวแปรอะไรบ้างที่จะส่งผลกระทบ
ต่อเรา และเราควรจะคำนึงถึงมันมากแค่ไหนในการวางกลยุทธ์

ตัวเรา : ตัวแปรภายนอก :
- เปลี่ยนระบบเอนท์ทรานซ์ใหม่
- คะแนนต่ำสุดสูงสุดในปีที่สอบเปลี่ยนแปลง



การวางแผนกลยุทธ์ทางเลือก คือการวางแผนกลยุทธ์ ในส่วนนี้ควรจะดูว่าตัวเราจะทำอะไรได้บ้าง โดยการเริ่ม
ตั้งแต่ดูจุดอ่อนจุดแข็งในตัวเรา ผ่าน SWOT ก็ได้ (สำหรับ SWOT อาจจะกล่าวถึงในบทความต่อ ๆ ๆ ๆไป) หลังจากนั้นก็
ดูถึงตัวแปรภายใน และภายนอก นำมาวางแผนเป็นขั้นเป็นตอนว่าเราจะต้องปฏิบัติอะไรบ้างเพื่อให้ถึงจุดหมาย
สำหรับการวางแผนกลยุทธ์นี้ เนื่องจากหัวข้อบอกไว้ว่า "การวางแผนกลยุทธ์ทางเลือก" ดังนั้นจึงไม่ควรวางแผนแค่แผน
เดียว แต่ควรวางแผนไว้หลาย ๆ แผนเพื่อที่จะตรวจสอบความเหมาะสมและเลือกใช้ได้ในภายหลัง

แผนกลยุทธ์แรก : เริ่มจากการอ่านวิชาหลักก่อน เพื่อให้ได้คะแนนมาก ๆ หลังจากนั้นดูคะแนนว่าถึงไหน หากวิชาไหนได้
น้อยจะเร่งอ่านไปเก็บในสอบครั้งที่สอง ส่วนวิชาเฉพาะคิดว่าอ่านพร้อมกันกับวิชาหลักในการสอบครั้งแรกไม่ไหวจึงต้อง
เร่งอ่านในการสอบครั้งที่สองแทน ส่วนวิชาที่เอาแค่คะแนนขั้นต่ำ แต่ไม่ได้เอาคะแนนรวมไปเพื่อสอบเข้า ไม่จำเป็นต้อง
อ่าน โดยการอ่านทั้งหมด ตั้งใจจะอ่านวันละ 4 ชั่วโมง โดยแบ่งเป็นการอ่านเนื้อหา 2 ชั่วโมง ทำข้อสอบเก่า 2 ชั่วโมง และ
ไปเรียนที่ติวเตอร์ชื่อดัง โดยเริ่มตั้งแต่.... ถึง....

แผนกลยุทธ์ที่สอง : อันดับแรกลาออกจากมหาวิทยาลัยเดิม แล้วให้พ่อทีเป็นนายกอย่าเพิ่งเปลี่ยนระบบเอนทรานซ์ใหม่
(ถ้ามันควบคุมได้ ดังนั้นข้อนี้จะไม่ถือว่าเป็นปัจจัยภายนอกอีกต่อไป) เพราะระบบใหม่จะต้องคิดคะแนนจากที่เก่าด้วย ทำ
ให้ได้คะแนนห่วยและเป็นตัวถ่วง หลังจากนั้นก็ติดต่อกับหัวหน้าคณะกรรมการที่ดูแลเกี่ยวกับข้อสอบเอนทรานซ์แอบเอา
ข้อสอบออกมาให้ดู จำเฉพาะแบบปรนัยเพราะจำได้ง่ายกว่า โดยการที่จะให้คน ๆ นั้นเห็นด้วย ก็ให้สัญญาว่าหากจะช่วย
เหลือโดยการปรับตำแหน่งให้

หมายเหตุ : ที่จริงแผนกลยุทธ์ควรจะซับซ้อนกว่านี้ และพูดถึงตัวแปร และจุดเด่นจุดด้อยของเรามากกว่านี้



สรุปผล คือการสรุปผลจากแผนกลยุทธ์ที่วางไว้ทั้งหลาย โดยการเปรียบเทียบถึงความเหมาะสมในแต่ละแผนกัน
เพื่อดูว่าแผนไหนเหมาะสมและเป็นไปได้มากที่สุด จึงค่อยเลือกใช้แผนนั้นมาปฏิบัติจริง ซึ่งในองค์กร บางครั้งการสรุปผล
นี้จะให้ผู้บริหารระดับสูงในการตัดสินใจเลือกแทน

สรุปผล : แผนกลยุทธ์แรก มีความเป็นไปได้ต่ำที่จะสำเร็จ เนื่องจากรู้แก่ใจดี ว่าตัวเองโง่ อ่านไปก็คงไม่รู้เรื่อง จะให้ติว
พิเศษยังที่ติวชื่อดังก็ขี้เกียจ แต่ในแผนกลยุทธ์ที่สอง มีพ่อเป็นนายกที่สามารถควบคุมสื่อได้ และสามารถยื่นข้อเสนอดัง
กล่าวเพื่อขอข้อสอบมาดูก่อนได้ และไม่ต้องใช้ความพยายามมาก แค่จำไปตอบ หรือเอาโพยคำตอบไปสอบก็พอแล้ว
ดังนั้นจึงเลือกแผนกลยุทธ์ที่สอง


สำหรับบทความนี้ ไม่ได้ต้องการจะโยงการเมืองแต่อย่างใด (ฮา)
ซึ่งอย่างน้อย การวางแผนกลยุทธ์นี้ คงทำให้ทุกคนได้สามารถเห็นถึงมุมมองของการมีวิสัยทัศน์ได้บ้างว่าต้องคำนึงถึงอะไร
แม้จะไม่ใช่โดยตรง และถึงจะไม่ใช่ทั้งหมด แต่อย่างน้อยคงจะสามารถปรับเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้มากขึ้นได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น