วันเสาร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ผู้ไม่เคยยอมแพ้ต่อชะตากรรม


เป็นเรื่องที่ดีจึงอยากบอกต่อให้ทุกคนได้อ่านกันบ้าง

กลาง ฤดูร้อนปี ค.ศ. 1834 ชายซอมซ่อคนหนึ่งเดินทางจากนิวยอร์กกลับบ้านที่เมืองฟิลาเดลเฟีย เมื่อไปถึง เขาถูกจับเข้าคุกเนื่องจากมีหนี้สินค้างชำระมานาน

เขาบอกภรรยาว่า "ไม่เป็นไร ก็แค่การไปพักใน 'โรงแรม' เท่านั้น"

เขาขอให้ภรรยานำยางดิบและอุปกรณ์หลายชิ้นมาให้ และใน 'โรงแรม' แห่งนั้น เขาก็เริ่มทำการทดลอง

เขาเพิ่งกลับมาจากนิวยอร์ก และพบเห็นบางสิ่งที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของเขาโดยสิ้นเชิง

เขาชื่อ ชาร์ลส์ กูดเยียร์ แต่หลายปีที่ตามมาไม่ใช่ปีที่ดี (good year) ของเขาแน่นอน

กูด เยียร์เคยประสบความสำเร็จในธุรกิจ เป็นหุ้นส่วนกับพ่อ ผลิตสินค้าต่างๆ เช่นกระดุม อุปกรณ์การเกษตร ฯลฯ แต่เมื่ออายุยี่สิบเก้า สุขภาพของเขาเสื่อมลง เช่นเดียวกับธุรกิจ ในที่สุดก็ต้องเลิกกิจการ

จุดที่สร้างความเปลี่ยนชีวิตเขาเกิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อนในนิวยอร์ก เขาเห็นห่วงยางชูชีพที่คุณภาพไม่ดี

เขากลับบ้านมาลองทำงานปรับปรุง และนำตัวอย่างงานที่เขาแก้ไขไปเสนอบริษัทผู้ผลิตยางแห่งแรกของอเมริกา

ผู้ จัดการบริษัทชอบใจงานของเขา แต่บอกว่าทำอะไรไม่ได้แล้ว เพราะบริษัทนั้นกำลังไปไม่รอด เนื่องจากสินค้ายางทั้งหลายของบริษัทถูกส่งคืนมาจากทุกที่ คนใช้สินค้าเบื่อหน่ายที่ยางแข็งเป็นก้อนในฤดูหนาว และเหลวเป็นกาวในฤดูร้อน

ใน วันนั้นกูดเยียร์มองกองสินค้ายางที่ถูกส่งคืนมา แทนที่จะเห็นเหมือนคนอื่นว่าสิ้นสุดยุคสินค้ายางแล้ว เขากลับรู้สึกว่ามันน่าตื่นเต้นและท้าทายยิ่ง เขาคิดปรับปรุงคุณภาพของสินค้ายางเหล่านั้น

หลังจากออกจากคุก เขาทำการทดลองอย่างขะมักเขม้น ด้วยความช่วยเหลือของเมียและลูกและเพื่อน ใช้บ้านเป็นที่ทดลองและผลิต

เขา เห็นว่า ในเมื่อยางเป็นวัสดุธรรมชาติ ที่มีคุณสมบัติยึดตัวเองได้ ทำไมจะไม่สามารถใส่สารอะไรสักอย่างเพื่อช่วยไม่ให้มันไม่เหนียวเหนอะหนะ

กูดเยียร์ขายทุกอย่างเอาเงินมาทดลอง ใครๆ ก็บอกให้เขาเลิกทดลอง เพราะครอบครัวเดือดร้อน ลูกๆ ไม่มีอะไรกิน

กูด เยียร์ย้ายไปนิวยอร์ก อยู่ในห้องเล็ก ทดลองหาส่วนผสมที่ถูกต้อง หลายปีนั้นชีวิตของเขาเต็มไปด้วยอุปสรรคและความยากลำบาก แต่คำว่า ‘เลิก’ ไม่เคยอยู่ในหัวของเขา สุขภาพเสื่อมลงจากการทดลองที่ใช้สารเคมี ครั้งหนึ่งเกือบสำลักแก๊สจากการทดลองตาย

มีคนบอกว่า "ทำไปทำไม ยางน่ะตายไปแล้ว"

แต่เขาก็ยังทำงานต่อไป

เขาลองทุกอย่าง ทุกทางที่คิดออก ในที่สุดก็สามารถทำให้ยางอินเดียไม่เหนียวเหนอะหนะสำเร็จในระดับหนึ่ง

เขา หาหุ้นส่วนและสร้างโรงงานผลิตสินค้ายาง ทุกอย่างดูสดใสขึ้น เขาฝันว่าจะทำทุกอย่างด้วยยาง ห่วงชูชีพ ธง เครื่องประดับ เครื่องดนตรี แม้กระทั่งธนบัตร แต่เศรษฐกิจซบเซาในปี 1837 ก็ทำให้ธุรกิจของเขาล่มสลาย เขาสิ้นเนื้อประดาตัวอีกครั้ง

ตลอดเวลานั้น ครอบครัวของเขาก็เดือดร้อนด้วย อยู่อย่างยากจน เพื่อนบ้านให้อาหารแก่เด็กของเขา และอนุญาตให้ขุดมันฝรั่งมากิน

วันหนึ่งเขาเดินเข้าร้านขายของแห่งหนึ่งเพื่อแสดงผลงานยางที่ผสมซัลเฟอร์ เขาทำให้แผ่นยางปลิวโดยบังเอิญ มันลอยตกไปบนเตาร้อน

เขาพบว่ามันไม่หลอมละลาย แต่กลับดูคล้ายแผ่นหนัง พื้นผิวเรียบสวย เขาได้ทำยางกันน้ำสำเร็จแล้ว!

ตอนนี้กูดเยียร์รู้แล้วว่าซัลเฟอร์กับความร้อนเป็นองค์ประกอบ แต่ไม่รู้ว่าต้องร้อนแค่ไหน และนานเท่าไร

อย่างอดทน เขาค่อยๆ ย่างยางบนทรายร้อน และทดลองต่อไปอย่างอดทน สูดดมกลิ่นที่เกิดจากสารเคมีเข้าไปตลอดเวลา

เขาจำนำนาฬิกา เครื่องเรือน แม้แต่ถ้วยชาม เขาทำจานยางมาใช้แทน ช่วงนั้นสุขภาพของเขาทรุดโทรมหนัก ต้องใช้ไม้เท้าในการทำงานทดลอง

เขาพยายามหาเงินลงทุน แต่คนที่เคยให้เงินเขาเข็ดเสียแล้ว เพราะเขายืมเงินบ่อยและทำงานไม่สำเร็จสักที

เขาถูกส่งตัวเข้า 'โรงแรม' อีกครั้งเพราะไม่มีเงินจ่ายค่าโรงแรมเพียงห้าเหรียญ

เมื่อกลับบ้าน เขาพบว่าทารกชายของเขาตายเสียแล้ว

กูดเยียร์มีลูกทั้งหมดสิบสองคน หกตายตั้งแต่ยังเป็นทารก เขาไม่มีเงินแม้แต่ค่าทำศพลูก ต้องยืมรถศพจากคนอื่น

แต่งานทดลองก็ดำเนินต่อไป

ไม่ มีอะไรในโลกที่หยุดยั้งความเพียรของมนุษย์ได้ ในที่สุดบุรุษผู้ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคก็พบสูตรว่า ไอน้ำใต้แรงกดดัน 4-6 ชั่วโมง อุณหภูมิ 270 องศาฟาห์เรนไฮท์ให้ผลดีที่สุด เขาหานายทุนได้ และเริ่มผลิตอีกครั้ง

อย่างไรก็ตามความสำเร็จในการประดิษฐ์ไม่ได้ หมายถึงความร่ำรวยเสมอไป เขาได้รับลิขสิทธิ์ทะเบียนยางบางชิ้น แต่การจดทะเบียนอีกหลายชิ้นในต่างประเทศกลับไม่สำเร็จ เพราะถูกคนอื่นช่วงชิง

ตัวอย่างงานชิ้นหนึ่งของเขาถูกชาวอังกฤษคนหนึ่งเห็นลอกเลียน และจดทะเบียนดักหน้า เมื่อเขาตายในปี 1860 เขาเป็นหนี้อยู่สองแสนเหรียญ

โลก เราหมุนมาได้ถึงจุดนี้ก็เพราะมีคนกลุ่มหนึ่งเชื่อว่า ทำอะไรต้องทำให้ถึงที่สุด และหากทำงานหนักและต่อเนื่องพอ ผลลัพธ์ย่อมไม่แย่แน่นอน

ชีวิตของพวกเขาอยู่ที่งาน ยอมทำทุกอย่าง ยอมลำบากเพื่อความฝันของตนเอง

ชาร์ลส์ กูดเยียร์, วินเซนต์ แวน โกะห์ และอีกหลายๆ นาม คือคนที่ล้มเหลวยามเมื่อมีชีวิต แต่งานของพวกเขาเป็นอมตะ

สมการ ที่มีชื่อเสียงที่สุดของไอน์สไตน์อาจคือ E = mc2 แต่น้อยคนรู้ว่า ไอน์สไตน์ก็มีอีกหนึ่งสมการที่ทำยากเช่นกัน เป็นสมการแห่งความสำเร็จ

A = x + y + z

A คือความสำเร็จในชีวิต x คืองาน y คือการเล่น z คือปิดปากของคุณเสีย!

ไอน์สไตน์ บอกว่า พยายามอย่าเป็นคนที่ประสบความสำเร็จเลย แต่เป็นคนที่มีคุณค่าจะดีกว่า บางครั้งการได้ทำ แม้ไม่สำเร็จ มีค่ากว่าความสำเร็จ

นี่คือข้อแตกต่างระหว่าง สิ่งที่ได้ทำ (achievement) กับความสำเร็จ (success)

กูด เยียร์เขียนว่า “ชีวิตไม่ควรถูกคำนวณจากมาตรฐานของเงินตราอย่างเดียว ผมไม่ได้บ่นว่าผมได้เพาะหว่านและคนอื่นเก็บเกี่ยวผลไป เราสมควรจะเสียใจก็ต่อเมื่อเราเพาะหว่านไปแล้ว ไม่มีอะไรงอกเงยขึ้นมา”

เพราะสำหรับคนบางคน ความยากลำบากไม่มีความหมายอะไรเลย ความสุขระหว่างการทำงานต่างหากคือรางวัล

(ตีพิมพ์ครั้งแรก : เปรียว 2549)


วินทร์ เลียววาริณ
www.winbookclub.com
30 ธันวาคม 2549

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น