วันอาทิตย์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2552

สยองสองบุคลิก

ผมรู้สึกว่าพักนี้ blog ของเราจะแก่การเมืองไปสักหน่อย จึงจะขอเขียน entry เรื่องบันเทิงเสียบ้าง

มีหนังเรื่องหนึ่งซึ่งชื่นชอบมานานแล้ว หนังเรื่องนี้ชื่อ Mary Reilly นำแสดงโดยจูเลีย โรเบริ์ตส์ และจอห์น มาลโควิช

หนังเรื่องนี้สร้างจากวรรณกรรมคลาสสิกเรื่อง Dr.Jekyll And Mr.Hyde ตัวเอกของเรื่องคือด๊อกเตอร์แจ๊คเคิลนั้นมีบุคลิกขี้อาย สุภาพอ่อนหวาน เป็น "เจ๊นเต้อแมน" สไตล์อังกฤษแท้ๆ ปมเรื่องที่สำคัญคือเขาได้ทำการทดลองคิดน้ำยาที่สามารถดึงตัวตนที่เป็น "ด้านมืด" ของเขาออกมา เป็นตัวตนที่เขาตั้งชื่อว่ามิสเตอร์ไฮด์ (น่าสังเกตว่าชื่อ Mr.Hyde นั้นพ้องกับคำว่า hide ที่แปลว่า "ซ่อนเร้น" ซึ่งโยงถึงตัวตนอันปิดบังของด๊อกเตอร์แจ๊คเคิล)

ตรงกันข้ามกับด๊อกเตอร์แจ๊คเคิล มิสเตอร์ไฮด์มีบุคลิกที่ก้าวร้าว กักขฬะ โหดร้าย และเขาจะก่อการฆาตกรรม ซึ่งจะเป็นโครงเรื่องที่สำคัญอันหนึ่งของวรรณกรรมเรื่องนี้

ตัวตนที่เปิดเผย และตัวตนที่แฝงเร้นเก็บกด นั้นสอดรับกับทฤษฎีจิตวิเคราะห์ที่ว่าภายใต้หน้ากากของมนุษย์ที่นึกว่าตน เป็นคนมีเหตุผล มีอารยะ มีศาสนา ย่อมเป็นที่ซ่อนเร้นของความปรารถนาอันดำมืด ที่พร้อมจะปรากฏตัวออกมาเสมอเมื่อสภาพแวดล้อมอำนวย

เป็นอันว่ามนุษย์ทุกคนย่อมมี "มิสเตอร์ไฮด์" อยู่ในตัวทุกคน

ประเด็นเรื่อง "ทวิลักษณ์แห่งบุคลิกภาพ" (duality of personality) นี่เองที่ทำให้วรรณกรรมเรื่องนี้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์อยู่หลายหน จนกระทั่งถึงเวอร์ชั่นจูเลีย โรเบริ์ตที่เรากำลังจะพูดกันใน entry นี้

สิ่งที่ทำให้เวอร์ชั่นนี้แตกต่างจากกับเวอร์ชั่นอื่นก็คือบทที่จูเลีย โรเบริ์ตได้รับนั่นแหละ เธอได้รับบทเป็นคนใช้ในบ้านของด๊อกเตอร์ แจ๊คเคิล และหนังจะ focus มาที่เธอ ไม่ใช่ด๊อกเตอร์

หนังเวอร์ชั่นนี้กล่าวถึงอดีตอันขมขื่นของสาวใช้ว่า เธอเคยถูกพ่อแท้ๆข่มขืน แต่ขณะเดียวกันเมื่อโตขึ้นเธอยังฝันถึงพ่ออยู่ตลอดเวลา ซึ่งแน่นอนฝันนั้นย่อมเป็นฝันร้าย

ในทัศนะของผม หนังเวอร์ชั่นนี้ได้สอดใส่ประเด็นทางจิตวิเคราะห์เพิ่มเข้ามาอีกประเด็นนั่น คือประเด็น "ปมรักพ่อ" ซึ่ง - ตามทฤษฎีของ Freud - มีอยู่ในเด็กผู้หญิงทุกคน

ตามทฤษฎี เด็กผู้หญิงทุกคนจะเห็นพ่อเป็น lover (ชู้รัก) เด็กปรารถนาจะครอบครองพ่ออย่างคนรัก แต่ต่อมาเธอจะเก็บกดความปรารถนานี้ไว้ในจิตไร้สำนึก และพัฒนาความรู้สึกเชิงชู้สาวให้กลายเป็นความรู้สึกแบบ "ลูกรักพ่อ" ตามปรกติ อนึ่ง เมื่อความรู้สึกเชิงชู้สาวที่มีต่อพ่อถูกเก็บกดลงไปในจิตไร้สำนึกแล้ว ในระดับจิตสำนึก (ที่ตอนนี้ถูกโปรแกรมแล้วว่าต้องรักพ่ออย่างผู้ปกครองไม่ใช่ชู้รัก) ระบบจิตใจมันจะต้านความรู้สึกเดิมๆ (รักพ่อเยี่ยงชู้) ให้กลายเป็นสิ่งน่ารังเกียจ ขยะแขยง สกปรก ผิดศีลธรรม

ไม่เชื่อลองไปบอกผู้หญิงคนหนึ่งสิว่า "ครั้งหนึ่งคุณเคยอยาก make love กับพ่อของคุณ" ก็จะได้คำตอบกลับมาว่า "ไอ้ทุเรศ ! พูดออกมาได้ เลอะเทอะ !"

ต้องเข้าใจว่า ความรู้สึกที่ถูกเก็บกดมันไม่ได้หายไปไหน แต่มันรอวันที่จะโผล่กลับเข้ามาในจิตสำนึกอีก สำหรับผู้หญิงปรกติ เธอจะถ่ายโอนความรู้สึกเก็บกดดังกล่าวมาสู่คนรักในชีวิตของเธอ ด้วยเหตุนี้ ผู้หญิงจึงมักเลือกคนรักที่มีลักษณะคล้ายพ่อของเธอ

ตัวละครแมรี่ ไรลี่เป็นสัญลักษณ์ของความรู้สึกแบบทวิลักษณ์ที่ผู้หญิงทุกคนมีต่อพ่อ

ขอเพิ่มเติมเล็กน้อยว่า ที่พ่อข่มขืนแมรี่นั้นเพราะพ่อเมา สำหรับแมรี่เหล้าคือสิ่งที่เปลี่ยนพ่อจากพ่อที่แสนดีกลายเป็นพ่อผู้ชั่วร้าย

ซึ่งนั่นสอดคล้องกับด๊อกเตอร์แจ๊คเคิลกับมิสเตอร์ไฮด์ ความดี/ความเลว ที่สามารถสลับกันได้ด้วยฤทธิ์ของ "น้ำ" (น้ำยาทดลอง/เหล้า)

แมรี่ให้ความเคารพด๊อกเตอร์เจ้านายผู้แสนสุภาพ แต่เธอก็ไม่ได้ตอบสนองเจ้านายผู้ซึ่งหลงรักเธอ

ขณะเดียวกัน เธอหวาดกลัว ขยะแขยงมิสเตอร์ไฮด์ แต่ก็มีท่าทีหลงเสน่ห์ชายกักขฬะนี้อยู่ลึกๆ

ซึ่งนั่นสะท้อนความสัมพันธ์ของเธอกับพ่อในวัยเด็ก

ยามพ่อไม่เมา พ่อคือคนดี แต่พ่อก็คือพ่อ เธอไม่ได้รักอะไรไปมากกว่านั้น ทั้งยังรังเกียจความคิดที่ว่าพ่อจะสามารถปู้ยี่ปู้ยำเธอได้

ยามพ่อเมา พ่อคืออีกคน ที่เธอไม่อยากจจะจดจำ แต่ก็ "ฝันถึง" อยู่บ่อยๆ

หนังเรื่องนี้กำลังบอกเราว่านอกจากมนุษย์ทุกคนจะมี มิสเตอร์ไฮด์อยู่ในตัวแล้ว สิ่งที่เรานึกว่ารักมากๆ ยังอาจแฝงไปด้วยความรังเกียจ สิ่งที่นึกว่ารังเกียจเราอาจปรารถนาอยู่ลึกๆ ต่อพ่อแม่ที่เราเคารพรัก เราอาจซ่อนความรู้สึกเชิง incest (สมสู่ในสายเลือด) และในความรู้สึกรังเกียจ incest เราอาจถวิลหามันอยู่ตลอดเวลา

มนุษย์มี 2 ตัวตนเสมอ

ไม่งั้น สมัคร สุนทรเวชที่เคยขวาจัดในอดีต วันนี้จะมาจูบปากกับซ้ายจ๋าอย่างหมอเลี้ยบได้หรือ ?

ว่าจะไม่ตวัดเข้าการเมืองแล้วเชียว

ตัวตนที่แฝงเร้นมันพาไปน่ะครับ ขออภัย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น